ดีเอสไอ ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าตรวจค้นสถานที่พักอาศัยของ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง กรณีเข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่

เผยแพร่: 14 ต.ค. 2559 9:40 น. ปรับรุง: 14 ต.ค. 2559 9:40 น. เปิดอ่าน 2217 ครั้ง  
 

ดีเอสไอ ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าตรวจค้นสถานที่พักอาศัยของ

ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง กรณีเข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่

     

 

          ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามผู้กระทำความผิดแชร์ลูกโซ่ หรือ การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนได้รับความเสียหาย เป็นจำนวนมาก นั้น

          พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ได้มอบหมายให้ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เร่งรัดการปราบปรามการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559) เวลา 09.00 น. พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 พร้อมด้วย นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 138/2558 ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดมีนบุรีที่ ค.349/2559 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2559 เข้าตรวจค้นเป้าหมายสถานที่เลขที่ 72/98 ถนนรามคำแหง แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ผลการตรวจค้น พบทรัพย์สิน ดังนี้

          - สมุดบัญชีธนาคารจำนวน 103 เล่ม

          - หลักฐานการซื้อทองคำรูปพรรณน้ำหนักประมาณ 50 บาท

          - คอมพิวเตอร์ notebook และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ รวม 4 เครื่อง
 
          - เอกสารการครอบครองอสังหาริมทรัพย์
         
          ซึ่งจะต้องแจกแจงการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว หากไม่สามารถแจกแจงได้ จะต้องทำการยึดอายัดทรัพย์ต่อไป
       
       
 
          คดีดังกล่าวเป็นการชักชวนให้บุคคลทั่วไปสมัครเข้าร่วมหลายโครงการ โดยมีการเสนอให้ผลตอบแทนกับผู้สมัครสมาชิกว่า หากสมาชิกเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือแก่ทางญาติ และการชักชวนให้ผู้ใดเข้าร่วมโครงการจะได้รับผลตอบแทนในการชักชวนต่อหัว อันเข้าลักษณะของการชี้ชวนให้มีการระดมเงิน แล้วมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ชักชวนโดยการนำเงินที่ได้รับมาจากสมาชิกที่สมัครมาจ่ายผลตอบแทน อันเข้าข่ายการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกาหนดการกู้ยืมเงินที่เป็น การฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2547 ซี่งห้ามมิให้ผู้ใดชักชวนหรือชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินหรือเป็นทรัพย์สินอื่นไม่ว่าจะเป็นสินจ้างหรือค่าใช้จ่ายในการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการ นั้น ซึ่งมีผู้เสียหายทั่วประเทศประมาณ 10,000 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีการสอบสวนปากคำไปแล้วกว่า 3,000 คน และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการที่ผ่านมา พบว่ามีกระแสเงินหมุนเวียนในบัญชีส่วนตัวของบุคคลที่เป็นแกนนำประมาณ 300 ล้านบาท โดยมีการยักย้ายถ่ายเทเงินออกจากในรูปแบบต่าง ๆ จนนามาสู่การตรวจค้นและการยึด/อายัดทรัพย์ในครั้งนี้
 
          กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอฝากเตือนไปยังประชาชน ให้ระมัดระวังในการชักชวนให้ลงทุน ที่อ้างว่ามีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้ ดังนั้นเพื่อเป็นข้อเตือนใจสำหรับประชาชนหรือ ผู้นิยมการลงทุนในรูปแบบลักษณะดังกล่าว ขอให้ตรวจสอบความเป็นมาของบริษัทก่อนว่ามีการจัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะหรือมีความมั่นคงในการดำเนินการกิจการมาอย่างยาวนานหรือไม่ อย่างไร ประกอบกับการลงทุนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่บุคคลใด ๆ สามารถสร้างรูปแบบให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ไม่อาจจับต้องหรือพิสูจน์ได้จริง รวมทั้งการให้ผลกำไรหรือปันผลที่มีอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น โดยส่วนใหญ่จะมีความสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการหลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่
 
          ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยว่า การลงทุนดังกล่าวเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ หรือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะดังกล่าว หรือมีข้อมูลหรือเบาะแส สามารถมาแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทร. 1202
 
           อนึ่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังเร่งดำเนินการสอบสวนและอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานในคดีความผิดแชร์ลูกโซ่อีกหลายคดี ซึ่งคาดว่าจะทยอยแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับผู้กระทำความผิด อีกหลายคดี
 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ