DSI ส่งตัว 26 ผู้ต้องหาคดีแชร์ตู้คอนเทนเนอร์ ฉ้อโกงประชาชนกว่า 600 ล้านบาท

เผยแพร่: 18 ต.ค. 2559 14:11 น. ปรับรุง: 18 ต.ค. 2559 14:11 น. เปิดอ่าน 2776 ครั้ง  
 

         ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามผู้กระทำความผิดแชร์ลูกโซ่ หรือการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก นั้น

         พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ได้มอบหมายให้ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เร่งรัดการปราบปรามการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยวันนี้ (วันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2559) เวลา 14.00 น. พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 มอบหมายให้ พันโท ประจวบ ปากคลอง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการพิเศษ นำตัวผู้ต้องหา จำนวน 26 ราย จากจำนวน 36 ราย ในคดีแชร์ตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมส่งสำนวน จำนวน 141 แฟ้ม ให้พนักงานอัยการ และขอให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ณ สำนักงานคดีพิเศษ ถนนรัชดาภิเษก

           คดีดังกล่าว สืบเนื่องจาก บริษัท เค.เอส.มารีน แอนด์กอฟเวอร์เนอร์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กับพวก ได้ชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนกับบริษัทฯ เพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์ไปให้บุคคลอื่นเช่าอีกทอดหนึ่ง โดยบริษัทฯ จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับผู้ร่วมลงทุนในระยะเวลา 48 – 60 เดือน หรือ 4 – 5 ปี ตามสัญญา โดยมีแผนการตลาดดังนี้

แผนการตลาดที่ 1 ให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทฯ ขนาดเล็ก ราคา 75,000 บาท ได้ค่าตอบแทน 7,000 บาท/เดือน

แผนการตลาดที่ 2 ให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทฯ ขนาดกลาง ราคา 95,000 บาท ได้ค่าตอบแทน 9,000 บาท/เดือน

แผนการตลาดที่ 3 ให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทฯ ขนาดใหญ่ ราคา 130,000 บาท ได้ค่าตอบแทน 13,000 บาท/เดือน

          ส่วนผู้ที่แนะนำหรือชักชวนผู้อื่นให้มาลงทุนจะได้รับค่าตอบแทน 1,000 บาท/ตู้/เดือน หรือการประกันรายได้จำนวน 40,000 บาท จะได้รับค่าตอบแทนจำนวน 5,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินจำนวน 500,000 บาท โดยจะได้รับผลตอบแทนตามวันเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่อัตราร้อยละ 112 – 113.53/ปี ในช่วงแรกพบว่ามีการจ่ายผลตอบแทนด้วยดีมาโดยตลอด แต่ภายหลังบริษัทฯ อ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่จ่ายค่าตอบแทนให้กับสมาชิก มีผู้เสียหายจำนวน 2,529 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 634 ล้านบาทเศษ ซึ่งพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ หรือการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และมีความซับซ้อน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องจากมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก จึงเข้าข่ายอาชญากรรมซึ่งเป็นคดีพิเศษ

             กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้รับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 100/2558 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 เพื่อสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและติดตามทรัพย์ และได้สอบสวนเสร็จ มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 36 ราย ในความผิดร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 และดำเนินการอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาไว้ ประมาณ 150 ล้านบาท และได้ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและขอให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 50 วรรคสองและได้แจ้งปลัดกระทรวงการคลังเพื่อให้สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ให้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่าได้กระทำความผิดตามมาตรา 4และมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และส่งให้พนักงานอัยการฟ้องผู้กู้ยืมเงินเป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 8 และมาตรา 10

             กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอฝากเตือนไปยังประชาชน ให้ระมัดระวังในการชักชวนให้ลงทุนที่อ้างว่ามีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้  ดังนั้นเพื่อเป็นข้อเตือนใจสำหรับประชาชนหรือผู้นิยมการลงทุนในรูปแบบลักษณะดังกล่าว ขอให้ตรวจสอบความเป็นมาของบริษัทก่อนว่ามีการจัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะหรือมีความมั่นคงในการดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานหรือไม่ อย่างไร ประกอบกับการลงทุนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่บุคคลใด ๆ สามารถสร้างรูปแบบให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ไม่อาจจับต้องหรือพิสูจน์ได้จริง รวมทั้งการให้ผลกำไรหรือปันผลที่มีอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น โดยส่วนใหญ่จะมีความสุ่มเสี่ยง เข้าข่ายการหลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่

               ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยว่า การลงทุนดังกล่าวเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ หรือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะดังกล่าว หรือมีข้อมูลหรือเบาะแส สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทร. 1202

                อนึ่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังเร่งดำเนินการสอบสวนและอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานในคดีความผิดแชร์ลูกโซ่อีกหลายคดี ซึ่งคาดว่าจะทยอยแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับผู้กระทำความผิดอีกหลายคดี

   

 

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ