DSI ส่งสำนวนกรณีการบุกช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ชาวเมียนมา

เผยแพร่: 2 มี.ค. 2564 10:44 น. ปรับรุง: 31 พ.ค. 2564 11:26 น. เปิดอ่าน 2637 ครั้ง   EN
 

DSI ส่งสำนวนกรณีการบุกช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ชาวเมียนมา

           เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท สายัณห์ พูนเพิ่มบุญ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ และ นายกานต์ ดุลยฤทธิ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ กองคดีการค้ามนุษย์ ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 37/2563 กรณี การเข้าช่วยเหลือเหยื่อการถูกบังคับใช้แรงงานค้ามนุษย์ชาวเมียนมาในพื้นที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังพนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิไอเจเอ็ม (องค์การยุติธรรมนานาชาติ (International Justice Mission หรือ IJM) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ร่วมส่งสำนวน โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 7 ราย เอกสารจำนวนทั้งสิ้น 18 แฟ้ม 5,652 แผ่น เพื่อพนักงานอัยการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

           คดีนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญาให้เข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 7 ราย ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดค้ามนุษย์ โดยบังคับใช้แรงงานในเรือประมง ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งได้ร้องขอให้มูลนิธิไอเจเอ็มเข้าช่วยเหลือ ตามที่ได้เป็นข่าวมาก่อนแล้วนั้น ในเรื่องนี้รัฐบาลได้มีนโยบายและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานในภาคประมง ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของนานาประเทศ และการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์สำหรับประเทศไทย โดยรัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะยกระดับการประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์สำหรับประเทศไทยในปี 2564 ไปสู่ระดับ Tier1 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเร่งรัดปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งพันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้กองคดีการค้ามนุษย์ ดำเนินมาตรการเชิงรุกและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด “ในคดีนี้ มูลนิธิไอเจเอ็มเห็นถึงการทำงานอย่างมืออาชีพของดีเอสไอที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่อการสืบสวนคดีที่มีความสลับซับซ้อนในคดีแรงงานบังคับและคดีค้ามนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมประมง รวมถึงการสืบสวนคดีที่มีผู้ประกอบการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ไอเจเอ็มขอยกย่องชมเชยความพยายามของดีเอสไอ ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างถึงที่สุดในคดีนี้ ซึ่งได้ขยายการคุ้มครองสวัสดิภาพไปสู่แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย” นายแอนดรูว์ วสุวงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิไอเจเอ็ม กล่าว

************************************************

ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ