DSI ปรับเกณฑ์การรับคดีพิเศษใหม่ คืนอำนาจการสอบสวนบางส่วนให้ตำรวจ

เผยแพร่: 14 ก.พ. 2562 16:56 น. ปรับรุง: 14 ก.พ. 2562 16:56 น. เปิดอ่าน 5378 ครั้ง  
 
DSI ปรับเกณฑ์การรับคดีพิเศษใหม่ คืนอำนาจการสอบสวนบางส่วนให้ตำรวจ
 
 
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เว็ปไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 32ง เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ประกาศ ณ วันที่ 8 มกราคม 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษใหม่ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป
 
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการปฏิรูปการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในการทบทวนบทบาทภารกิจและงานในความรับผิดชอบให้มีความสอดคล้องกับสภาพของอาชญากรรมในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งหน่วยงานที่มุ่งเน้นการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ความซับซ้อน ต้องใช้วิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
 
สำหรับสาระสำคัญของประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 จะเป็นการกำหนดรายละเอียดของความผิดที่เป็นคดีพิเศษที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษเสียใหม่ให้มีความชัดเจน สามารถพิจารณาได้ในเบื้องต้นว่าคดีใดจะเป็นคดีพิเศษ โดยบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวจะกำหนดชื่อกฎหมาย มาตรา และรายละเอียดที่ใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งกำหนดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวนผู้เสียหาย หรือพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปยังสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตำรวจในท้องที่เกิดเหตุได้ตามปกติโดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายละเอียดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ.ดังกล่าว หากภายหลังพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความพบว่าเป็นความผิดที่เข้าข่ายอาจเป็นคดีพิเศษ ก็จะเป็นผู้ประสานงานมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเอง ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2547
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีอาญาอื่น ๆ ที่ไม่เป็นไปตามประกาศ กคพ.นี้ หากมีเหตุผลความจำเป็น เช่น มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในมิติต่างๆ หรือมีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษในการดำเนินคดี คณะกรรมการคดีพิเศษก็อาจหยิบยกขึ้นพิจารณาเพื่อมีมติให้เป็นคดีพิเศษได้อีก ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งจะเป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นในแต่ละเรื่องไป ทั้งนี้ หากท่านมีข้อสงสัยในการดำเนินการตามประกาศ กคพ.ฉบับดังกล่าว สามารถปรึกษาได้ที่กองบริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หรือโทรศัพท์สายด่วน “1202” ต่อกองบริหารคดีพิเศษ โทรฟรีทั่วประเทศ และสามารถ download ประกาศ กคพ. ได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/032/T_0005.PDF หรือที่เว็ปไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th
 
จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
         14 กุมภาพันธ์ 2562

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ