“DSI ทำคดีปั่นหุ้นโปร่งใส ร่วมกับ ก.ล.ต. หนุนแก้กฎหมายเอาผิดทางแพ่งเพิ่มเติม”

เผยแพร่: 8 ก.พ. 2562 10:31 น. ปรับรุง: 8 ก.พ. 2562 10:31 น. เปิดอ่าน 2426 ครั้ง  
 

DSI ทำคดีปั่นหุ้นโปร่งใส ร่วมกับ ก.ล.ต. หนุนแก้กฎหมายเอาผิดทางแพ่งเพิ่มเติม

           ตามที่ปรากฏข่าวกรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์2562 คอลัมน์ “ชุมชนคนหุ้น” ได้นำเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินคดีอาญา ในความผิดที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะข้อหาสร้างราคาหุ้น หรือ “ปั่นหุ้น” พาดพิงกรมสอบสวนคดีพิเศษในทำนองว่ากลุ่มผู้กระทำผิดอาญาเรื่องดังกล่าวมักจะหลุดรอดจากการถูกลงโทษอยู่เสมอ โดยมีการกล่าวโทษนับสิบคดี แต่แทบทุกคดีมีการตัดตอนในชั้นสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เคยออกมาแถลงข่าวในเรื่องขั้นตอนการสอบสวนและเหตุผลในการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดี ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าความผิดพลาดอยู่ในขั้นตอนของสำนักงาน ก.ล.ต.หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ นั้น

 

           กรณีดังกล่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา คอลัมน์ “ชุมชนคนหุ้น” ได้เคยตั้งประเด็นสอบถามกรมสอบสวนคดีพิเศษมาก่อนหน้านี้ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง โดยละเอียดไปแล้ว ในวันนี้เป็นการชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อเน้นย้ำการดำเนินการ เป็นประเด็นดังนี้

           1. กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ซึ่งรับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตรวจสอบพบว่า สำนักงาน ก.ล.ต. มีการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในฐานความผิดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 70 คดี ซึ่งมีการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 57 คดี คิดเป็นร้อยละ 81.43 โดยแต่ละคดีใช้ระยะเวลาสอบสวนเฉลี่ยประมาณ 1 ปี 6 เดือน เนื่องจากมีเอกสารหลักฐานจำนวนมาก

           2. เฉพาะในฐานความผิดสร้างราคาหุ้น หรือ “ปั่นหุ้น” สำนักงาน ก.ล.ต. มีการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 15 คดี  ซึ่งสอบสวนเสร็จแล้วจำนวน 14 คดี คิดเป็นร้อยละ 93.33 ในจำนวนดังกล่าวมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องและเห็นควรสั่งไม่ฟ้องส่งพนักงานอัยการ จำนวน 5 คดี คิดเป็นร้อยละ 33 พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้รับสำนวนการสอบสวนจะตรวจสำนวนการสอบสวน และอาจเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย โดยสั่งฟ้องหรือสั่งสอบสวนเพิ่มเติม อันอำนาจและเป็นขั้นตอนตามกฎหมายในชั้นพนักงานอัยการ ส่วนการจะแถลงเหตุผลในการสั่งคดีต่อสาธารณชนนั้น กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 146 ได้กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียในคดีสามารถขอสรุปพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการได้

           3. เนื่องจากความผิดในเรื่องการสร้างราคาหุ้น หรือ “ปั่นหุ้น” บางกรณีที่ ก.ล.ต.กล่าวหาขาดพยานหลักฐานหรือเป็นการยากที่จะแสวงหาพยานหลักฐานในการพิสูจน์การกระทำว่าเป็นความผิดตามที่กล่าวหา กรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อหามาตรการดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพจนนำไปสู่การเสนอแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำมาตรการทางแพ่งมาดำเนินการกับกลุ่มผู้กระทำความผิดอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว และสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้ใช้มาตรการดังกล่าวควบคู่ไปกับการดำเนินการทางอาญาด้วย

          จากข้อชี้แจงดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยมีการตรวจสอบจากองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย และยังได้บูรณาการกับสำนักงาน ก.ล.ต.ในการหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

           จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

 คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

7 กุมภาพันธ์ 2562

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ