DSI ตรวจค้น บริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด ลักลอบนำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวจากต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์

เผยแพร่: 10 ก.ค. 2563 10:23 น. ปรับรุง: 10 ก.ค. 2563 10:23 น. เปิดอ่าน 3112 ครั้ง  
 

DSI ตรวจค้น บริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด ลักลอบนำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวจากต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฏาคม 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจค้น บริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 109/1 หมู่ 6 ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในคดีพิเศษที่ 14/2563 กรณีการหลีกเลี่ยงหรือลักลอบนำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวส่วนอื่น ๆ จากต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ มูลค่าความเสียหายสินค้ากว่า 130 ล้านบาท


กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีภาษีอากร ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวส่วนอื่น ๆ จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย หรือมีการหลีกเลี่ยงนำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวส่วนอื่น ๆ โดยผ่านพิธีการศุลกากร แต่ผู้นำเข้าไม่ได้ขออนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้นำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัว จากกรณีดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนที่บริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งผู้นำเข้าลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้า เนื่องจากหากผู้นำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวส่วนอื่น ๆ โดยถูกต้องจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 กล่าวคือ ผู้ขอใบอนุญาตจะต้องเชิญเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เดินทางไปตรวจรับรองแหล่งผลิตสัตว์หรือซากสัตว์ 
ณ ประเทศแหล่งกำเนิดหรือซากสัตว์ และสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อป้องกันเชื้อโรคระบาดสัตว์จากต่างประเทศ ซึ่งอาจติดมากับสินค้าปศุสัตว์(ซากสัตว์) ที่เป็นพาหะของโรคระบาด อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผู้บริโภคโดยตรง และจากกรณีดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและตามกฎหมายโรคระบาดสัตว์ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ทำการสืบสวนขยายผลเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี


จากการสืบสวนทราบว่า ระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2562 ต่อเนื่องกัน บริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด ได้นำเข้าสินค้าประเภท สัตว์หรือซากสัตว์ (เนื้อวัว โค หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ของวัว โค) จำนวน 226 ใบขนสินค้า สำแดงสินค้าในพิกัดศุลกากร 0262900 ชำระอากรขาเข้าร้อยละ 30 แต่จากการตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้าของบริษัทฯ กับใบอนุญาตนำเข้าเนื้อวัวและชิ้นส่วนของวัวที่กรมปศุสัตว์อนุญาตให้บริษัทฯ นำเข้า ปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า สินค้าประเภทเนื้อวัวหรือซากสัตว์ที่บริษัทฯ นำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ จำนวน 158 ใบขน ปริมาณนำเข้าทั้งสิ้น  3,539,375.44 กิโลกรัม มูลค่าการนำเข้า 100,704,962.66 บาท ค่าอากรขาเข้า 29,824,995.61 บาท รวมมูลค่าสินค้าและค่าอากรเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 130,529,958.27 บาท 

จากพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐาน “นำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐาน “นำของที่ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 244 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทซากสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายทุกครั้งที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร และเมื่อบริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด กับพวก ไม่ได้รับอนุญาตให้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้าดังกล่าวจึงเป็นของต้องกำกัด ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนั้นการกระทำของ บริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด กับพวก เข้าข่ายเป็นความผิดฐานนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงเท็จและหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด ตามมาตรา 202 มาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ฐานนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และมาตรา 83 มาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันอาจเป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้รับเป็นคดีพิเศษที่ 14/2563


กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตระหนักถึงการป้องกันเชื้อโรคระบาดจากต่างประเทศ ซึ่งอาจติดมากับสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) ที่เป็นพาหะของโรคระบาด และมีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากหากเกิดการระบาดของโรคติดต่ออื่น ย่อมเป็นการซ้ำเติมประชาชน ตลอดจนอาจส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแส สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ได้ที่สายด่วน DSI Call Center 1202 (โทรฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ

************************************************

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ