รองอธิบดี DSI ลงพื้นที่สอบคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต จำนวนกว่า 15 ไร่

เผยแพร่: 22 ส.ค. 2566 15:54 น. ปรับรุง: 22 ส.ค. 2566 15:54 น. เปิดอ่าน 768 ครั้ง  
 

รองอธิบดี DSI ลงพื้นที่สอบคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต จำนวนกว่า 15 ไร่

 

             วันนี้ (วันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566) ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ เจ้าหน้าที่อำเภอถลาง และผู้ปกครองท้องที่ เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุภายในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยได้ใช้เครื่องมืออากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ขึ้นบินตรวจสอบสภาพพื้นที่และจัดทำแผนที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ ได้ทำการสอบปากคำเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ประกอบการสอบสวน
             เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้ดำเนินการตรวจสอบ กรณี คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ตรวจพบมีการบุกรุกแผ้วถางและเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จำนวนเนื้อที่ประมาณ 15-3-71 ไร่ โดยผู้ที่เข้าไปยึดถือครอบครองได้กล่าวอ้างต่อคณะเจ้าหน้าที่ว่า ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 283 หมู่ที่ 1 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต คณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินที่เกิดเหตุทับซ้อน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงเชื่อได้ว่าเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่นำมากล่าวอ้าง ไม่ตรงกับตำแหน่งแปลงที่ดินที่เกิดเหตุ
             ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ทำการสืบสวน และเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และที่สาธารณประโยชน์ เป็นพื้นที่ทรัพยากรที่มีค่าของแผ่นดิน อีกทั้งอยู่ใกล้กับสนามบินนานาชาติภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญมีมูลค่าที่ดินสูงและเป็นแหล่งเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน กระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงได้นำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษ พิจารณาให้รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2566 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ให้รับกรณีดังกล่าวไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่อง หากมีความคืบหน้าในการสอบสวนเป็นประการใด กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้รายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ