DSI รับ กรณี การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำบางวาด เนื้อที่ประมาณ 108 ไร่ ในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่: 31 พ.ค. 2564 14:57 น. ปรับรุง: 23 มิ.ย. 2564 13:21 น. เปิดอ่าน 2042 ครั้ง   EN
 

DSI รับ กรณี การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำบางวาด

เนื้อที่ประมาณ 108 ไร่ ในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นคดีพิเศษ

 

ด้วยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 4 (ภาคใต้)  ได้สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าทำการตรวจสอบพบมีการบุกรุกทำถนนเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำบางวาด ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีสภาพพื้นที่สูงชัน เป็นป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำ มีไม้ธรรมชาติขนาดใหญ่จำนวนมาก จากการตรวจสอบพบพื้นที่ป่าถูกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้าง มีการกานต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อให้ยืนต้นตาย มีการไถดันต้นไม้ให้ล้มและเผาจำนวนมาก และมีการโค่นตัดไม้เพื่อเปิดทางแสงสว่างลงดินเพื่อปลูกพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งมีการตัดเส้นทางขึ้นบนสันเขาเป็นถนนกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร บริเวณสองข้างทางที่ถนนตัดผ่าน มีการไถดันต้นไม้หวงห้ามขนาดใหญ่ ขณะตรวจสอบไม่พบตัวผู้กระทำผิด และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด คำนวณพื้นที่บุกรุกได้ 108-3-43 ไร่ คิดเป็นค่าเสียหายภาครัฐจำนวน 16,328,625 บาท จึงได้ทำการตรวจยึดพื้นที่ส่งให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรกะทู้ เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

กรณีดังกล่าว กรมป่าไม้มีหนังสือส่งเรื่องมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อขอให้พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งมอบหมายกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่และทำการสืบสวนและประสานงานกับตำรวจพื้นที่ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 46/2564 ลงวันที่ 22 มกราคม 2564 ทางคดีมีหลักฐานสำคัญคือมีผู้บันทึกภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งขณะกระทำความผิดไว้ได้ ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้นำหมายศาลไปทำการตรวจค้นและตรวจยึดรถแบคโฮขุดดิน จำนวน 2 คัน ที่ใช้ในการกระทำผิดไว้เป็นของกลาง และขออนุมัติต่อศาลจังหวัดภูเก็ตเพื่อออกหมายจับผู้ร่วมกระทำผิด จำนวน 6 ราย และเนื่องจากเป็นการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว เป็นเนื้อที่จำนวนมากกว่า 100 ไร่ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อันมีลักษณะความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่องกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าว     มีความสลับซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ หรือมีผู้มีอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำผิด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มีคำสั่งให้รับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เพื่อทำการสอบสวนต่อไป

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า “เรื่องการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรมสำคัญที่กรมสอบสวนคดีพิเศษต้องเข้าไปดำเนินการ เนื่องจากเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำต่อทรัพยากรธรรมชาติ กระทบต่อสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในระยะสั้นและระยะยาว จึงส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย จึงต้องมาเป็นคดีพิเศษ และเมื่อเป็นคดีพิเศษก็จะเป็นการลดแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วย หลังจากนี้เราจะร่วมทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ”

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ