กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ กรมศุลกากร และ กรมการค้าต่างประเทศ แถลงความคืบหน้า กรณีการปราบปรามการนำเข้ารถยนต์ที่ลักลอบนำเข้าและหลีกเลี่ยงการชำระภาษีศุลกากร ทำรัฐเสียหายกว่า 1,800 ล้านบาท

เผยแพร่: 2 ส.ค. 2560 15:29 น. ปรับรุง: 2 ส.ค. 2560 15:29 น. เปิดอ่าน 1433 ครั้ง  
 

 

 

          ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการปราบปรามขบวนการนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร และสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง รวมทั้งขบวนการทำรถจดประกอบผิดกฎหมาย อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบูรณาการกับกรมศุลกากรโดยนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นที่สนใจของสาธารณชน ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษการเข้าตรวจค้นตามหมายค้นศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 และ 24 พฤษภาคม 2560 และสามารถอายัดรถยนต์สมรรถนะสูง (SUPER CAR) ไว้เพื่อตรวจสอบจำนวน 160 คัน โดยเป็นรถยนต์หลายยี่ห้อ อาทิเช่น ลัมโบร์กินี, โรสลอยด์, แมคคาเรน, โลตัส เป็นต้น รวมทั้งมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการประสานข้อมูลกับทางการประเทศต้นทางของรถยนต์เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับราคาซื้อขายที่แท้จริงเพื่อประกอบการสืบสวนสอบสวน และขอให้กรมศุลกากรประเมินราคารถยนต์เบื้องต้น ตามเอกสารหลักฐานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกรมศุลกากรได้จัดส่งข้อมูลบัญชีรายละเอียดภาษีอากรขาดกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว จำนวน 32 คัน พบว่ามีมูลค่าภาษีอากรขาด รวมประมาณ 673 ล้านบาท ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการมาเป็นลำดับแล้ว นั้น

          ล่าสุด กรมศุลกากรได้จัดส่งข้อมูลบัญชีรายละเอียดภาษีอากรขาดกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มเติมจำนวน 92 คัน พบว่ามีมูลค่าภาษีอากรขาด รวมประมาณ 1,165 ล้านบาท รวมมูลค่าภาษีอากรขาดทั้งสิ้น 1,838 ล้านบาท ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนได้รับกรณีของรถยนต์สมรรถนะสูง (SUPER CAR) เป็นคดีพิเศษแล้ว จำนวน 43 คดี และในส่วนของผู้ครอบครองรถยนต์ได้เชิญมารับรถยนต์กลับไปดูแลรักษาจำนวน 59 คัน โดยให้ทำสัญญาประกันไว้กับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และได้เรียกกลุ่มผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาแล้วจำนวน 3 กลุ่มบริษัท ผู้ต้องหารวมจำนวน 16 คน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป
          นอกจากกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวน กรณีกรมการค้าต่างประเทศได้ตรวจพบว่ามีรถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัวที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 20 คันที่กรมการค้าต่างประเทศได้อนุญาตให้นำเข้าและออกหนังสือแจ้งการอนุญาตให้นำเข้าแล้วโดยพบว่ารถดังกล่าวไม่เคยมีการจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น และพบว่ามีการออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายญี่ปุ่นให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าเพียง 2 ราย จาก 20 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 18 ราย ไม่เคยมีประวัติการออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้แต่อย่างใด
          จากกรณีดังกล่าว นำไปสู่การสืบสวนขยายผลเกี่ยวกับเอกสารที่ผู้ขออนุญาตนำรถยนต์ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัวที่นำเข้ามาจากสหราชอาณาจักร (กรณีคนไทย) ที่กรมการค้าต่างประเทศได้อนุญาตให้นำเข้าและออกหนังสือแจ้งการอนุญาตให้นำเข้าแล้ว พบว่ามีผู้นำเอกสารปลอมมาใช้แสดงประกอบการขออนุญาตนำรถยนต์นั่งที่ใช้แล้วจากสหราชอาณาจักรจำนวน 1 ราย จาก 32 ราย และปรากฏว่าการดำเนินการขออนุญาตนำเข้ารถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรนั้น มีผู้ขออนุญาตจำนวน 15 รายที่ได้มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกันดำเนินการขออนุญาตในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการกระทำลักษณะนี้หากเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมายย่อมก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากเป็นการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้ารถยนต์ที่ใช้แล้วของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันปัญหาด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ภายในประเทศ โดยการยื่นคำขออนุญาตและได้ไปซึ่งใบอนุญาต/หนังสือแจ้งการอนุญาตให้นำเข้า ที่จะต้องปราบปรามจับกุม
          จากการตรวจเอกสารย้อนหลังยังพบข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 – ปัจจุบัน กรมการค้าต่างประเทศได้อนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัวรวมจำนวน 815 คัน การนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วได้มีการควบคุมการนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ควบคุมการนำเข้ารถใช้แล้ว ซึ่งมีหลักเกณฑ์การนำเข้าโดยไม่อนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ใช้แล้วทุกชนิด เว้นแต่เป็นกรณีที่มีระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการอนุญาตให้นำรถยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2549 กำหนดไว้ให้นำเข้าได้ การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ และอาจเป็นการสวมสิทธินำเข้ารถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นให้นำมาจำหน่ายในประเทศเชิงพาณิชย์ โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้สิทธิในการนำเข้ารถยนต์สำหรับผู้อยู่ในต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดสามารถนำรถยนต์เข้ามาใช้เพื่อเป็นการส่วนตัวได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีกลุ่มบุคคลอาศัยช่องทางดังกล่าวนี้ประกอบธุรกิจอันเป็นการหลีกเลี่ยงมาตรการการควบคุมการนำเข้าสินค้ารถยนต์ที่ใช้แล้วของกระทรวงพาณิชย์ หลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดตามที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อที่มีการนำเข้าที่ได้รับอนุญาต (Authorized Dealer) ได้รับความเสียหาย และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศได้ อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีอากรการนำเข้ารถยนต์ของภาครัฐ
          พฤติการณ์และการกระทำของเรื่องนี้ ในเบื้องต้นมีมูลเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด ในการนำเข้าหรือส่งออก อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 มาตรา 27 ทวิ และมาตรา 99 ประกอบกับพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16 และมาตรา 17 และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการปลอมเอกสาร ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตามมาตรา 264 ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
          กรณีข้างต้น เป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มีนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามกลุ่มขบวนการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร อันส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ