DSI จับมือกับ TIJ สหราชอาณาจักรและภาคเอกชน จัดการฝึกอบรมเพื่อยกระดับมาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็ก

เผยแพร่: 15 ก.ค. 2562 13:12 น. ปรับรุง: 15 ก.ค. 2562 13:12 น. เปิดอ่าน 1097 ครั้ง  
 

DSI จับมือกับ TIJ สหราชอาณาจักรและภาคเอกชน จัดการฝึกอบรมเพื่อยกระดับมาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็ก

 

 

        ในวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institution of Justice – TIJ) หน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติ (National Crime Agency – NCA) สหราชอาณาจักร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ (German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance - CPG) แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ มูลนิธิ ECPAT ประเทศไทย และมูลนิธิ A21 จัดการอบรมเชิงปฏิบัติ: มาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็กและการวิเคราะห์จิตวิทยา (Child Rights Ethical Standards and Psychological Analysis for Law Enforcement Training) ณ โรงแรม สยาม แอ็ท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล ถนนพระราม 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนอาชญากรรมต่อเด็ก เกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็ก และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาของผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ผลกระทบทางจิตที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายที่เป็นเด็ก รวมถึงผลกระทบทางจิตที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่สืบสวนเอง

 

 

        ผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สืบสวนและนักจิตวิทยาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อเด็ก อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำจากประเทศไทยและต่างประเทศมาให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรม อาทิ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา (FBI), สำนักงานสืบสวนความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI), โรงเรียนนายร้อยตำรวจเนเธอร์แลนด์, นักจิตวิทยาจากมูลนิธิ A21 ฯลฯ

        การฝึกอบรมนี้ นอกจากเป็นการยกระดับมาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรฐานในระดับสากล ยังถือเป็นการริเริ่มการศึกษาเชิงจิตวิเคราะห์เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ทั้งในมุมมองของผู้กระทำความผิด ผู้เสียหายที่เป็นเด็ก รวมถึงผลกระทบทางจิตวิทยาที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของผู้เข้าร่วมการอบรมที่จะศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน และยังสามารถร่วมกันเสนอแนวคิดเพื่อพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิเด็ก แนวคิดในการบริหารจัดการผู้กระทำความผิด และพัฒนาแนวปฏิบัติและสวัสดิการต่าง ๆ แก่เจ้าหน้าที่เพื่อลดผลกระทบทางจิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

  

 

 

 

 

 

******************************************************

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ