ปลัดกระทรวงยุติธรรม เร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เผยแพร่: 18 พ.ค. 2565 8:56 น. ปรับรุง: 22 พ.ค. 2565 14:42 น. เปิดอ่าน 1130 ครั้ง   EN
 

ปลัดกระทรวงยุติธรรม เร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.30 น. ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามการดำเนินการทางวินัยและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ได้มอบหมายให้พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการติดตามการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เชิญคณะอนุกรรมการประกอบด้วยผู้แทนหลายส่วนราชการ เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เข้าร่วมประชุม เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามการดำเนินการทางวินัยและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านการประชุมทางวีดิทัศน์ (Video Conference)

 

ในการประชุม มีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 - ปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 81 คน แบ่งเป็นข้าราชการพลเรือน 6 คน ทหาร 8 คน ตำรวจ 52 คน นักการเมืองท้องถิ่น 15 คน ในทางอาญาดำเนินคดีไปทั้งสิ้น 85 คดี (เจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 คน ถูกดำเนินคดีคนละ 2 คดี) และได้ดำเนินการทางวินัยทั้งสิ้น 78 คน (เจ้าหน้าที่ของรัฐ 3 คน ยังไม่มีข้อมูลวินัย) และยึดอายัดทรัพย์สินรวม 42.9 ล้านบาท ซึ่งคดีที่สำคัญได้แก่คดีบิดเบือนสำนวนการสอบสวน และคดีส่วยร้านคาราโอเกะ ในจังหวัดกาญจนบุรี คดีบิดเบือนสำนวนการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาร้านเดอะเบสท์ ในเขตพื้นที่ สน.บางซื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ นอกจากนี้ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รายงานกรณีที่รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นผู้ถูกกล่าวหาขัดขวางการสืบสวนการฟ้องร้อง หรือการดำเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งเข้าลักษณะความผิดที่เป็นคดีพิเศษ และเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่อยู่ในการติดตามของคณะอนุกรรมการฯ

 

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ฯ เน้นย้ำว่ารัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ  ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เป็นหนึ่งในปัญหาหลัก   ที่ถูกกล่าวถึงในรายงาน TIP REPORT ทุกปี ส่งผลต่อการจัดอันดับการค้ามนุษย์ ซึ่งในปี 2021 ประเทศไทย อยู่ในอันดับ Tier 2 Watch List โดยในปีนี้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะเลื่อนลำดับไปอยู่ในระดับ Tier 2 ให้ได้

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ