DSI เร่งปราบปรามขบวนการนำเข้า-ครอบครองขยะอิเล็กทรอนิคส์และตะกั่ว ที่เป็นวัตถุอันตราย รวมกันกว่า 400 ตัน รับเป็นคดีพิเศษ - เล็งขยายผลฟอกเงิน
เผยแพร่: 25 ก.ค. 2568 18:58 น. ปรับปรุง: 25 ก.ค. 2568 18:58 น. เปิดอ่าน 45 ครั้ง
วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2568 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งมอบหมายให้ กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ทำการสอบสวนคดีพิเศษสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. กรณีพบโรงงานแห่งหนึ่ง ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีการครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (ผงฝุ่นจากอุตสาหกรรมที่มีองค์ประกอบหลักเป็นสารตะกั่ว) น้ำหนัก 129,000 กิโลกรัม (129 ตัน) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และ 2. กรณีพบบริษัทแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีการครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (ขยะอิเล็กทรอนิคส์) น้ำหนัก 300,000 กิโลกรัม (300 ตัน) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยพันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ได้ลงนาม ในคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อทำการสืบสวนและสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยเน้นย้ำให้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษขยายผลไปยังขบวนการได้มาซึ่งวัตถุอันตรายว่าเป็นสิ่งของที่เกิดขึ้นภายในประเทศหรือมีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง จะเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยศุลกากรซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่อาจต้องถูกขยายผลดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินต่อไป
“ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ปะปนมากับขยะพลาสติก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) มักมีสารพิษและโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ที่สามารถสร้างผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน หากไม่ได้รับการควบคุม อย่างเหมาะสม อีกทั้งสารตะกั่วจากอุตสาหกรรม เป็นวัตถุอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่สมองยังอยู่ในช่วงการพัฒนาทำให้เกิดปัญหาด้านสติปัญญา สมาธิสั้น และการเรียนรู้ที่ล้าช้า ซึ่งหากจัดการไม่ถูกวิธีและแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำสาธารณะจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่ง พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความสำคัญและมอบนโยบายให้กองคดีคุ้มครองผู้บริโภคบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปราบปรามอย่างจริงจัง” พันตำรวจตรี วรณัน กล่าว.