การฟ้องคดีของศาลปกครอง ตอน ๑

published: 13/8/2557 16:56:00 updated: 13/8/2557 16:56:00 6110 views   TH
 

การฟ้องคดีของศาลปกครอง ตอน ๑

โดย นายวรวุธ มีจิตต์

กรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

 การฟ้องคดีของศาลปกครอง (1)                                            

          ศาลปกครองเป็นศาลที่ได้รับการจัดตั้งใหม่ เขตอำนาจของศาลปกครองได้กำหนดไว้ในบทบัญญัติ

แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งลักษณะของคดีปกครอง ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ องค์ประกอบแรก

คือ “คู่กรณีในคดีปกครอง” ซึ่งได้นิยามความหมายของคู่กรณีในคดีปกครอง ไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ว่า “คู่กรณี” หมายความว่า

ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี และให้หมายความรวมถึงบุคคล หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเข้ามาเป็นคู่กรณีด้วยการร้องสอดไม่ว่าจะโดยความสมัครใจเองหรือโดยถูกคำสั่งศาลปกครองเรียกเข้ามาในคดี ประการที่สอง คือ การกระทำที่เป็นมูลพิพาทในคดีปกครอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในคดีปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง

          ลักษณะสองประการของคดีปกครองดังกล่าวข้างต้นเป็นกรอบกำหนดเขตอำนาจของศาลปกครอง ว่าคดีใดจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เมื่อพิจารณาถึงเขตอำนาจศาลแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่งในการฟ้องคดีปกครอง คือ “เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง”

          “เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง” หมายความว่า เงื่อนไขทุกประการเกี่ยวกับตัวคำฟ้อง หรือที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งอาจกำหนดโดยกฎหมาย ระเบียบ แนวคำพิพากษาของศาลหรือหลักกฎหมายทั่วไป

          เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองนั้น แยกได้คร่าวๆ มี 10 เงื่อนไข ดังนี้คือ

1. ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นผู้เสียหาย (ตามาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542)

2. การออกคำบังคับได้ (ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542)

3. ได้แก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายครบขั้นตอนแล้ว (ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542)

4. เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ (ตามมาตรา 45)

5.ชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วน (ตามมาตรา 45)

6. ไม่พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี (ตามาตรา 49)

7. มีความสามารถฟ้องคดี

8. มีกฎ หรือคำสั่งทางปกครองในเรื่องที่จะฟ้องคดี

9. ไม่เป็นการฟ้องซ้อน หรือฟ้องซ้ำ

10.ไม่เป็นการดำเนินพิจารณาซ้ำ

          ในขั้นตอนนี้จะพูดถึงเฉพาะ “ความเป็นผู้เสียหาย” ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งผู้ฟ้องคดีศาลปกครองได้นั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือเป็นผู้เสียหายในคดีที่ฟ้องนั้น โดยสามารถแยกได้  2  ประเภท คือ

          ประเภทที่ 1 คดีฟ้องเพิกถอนกฎ หรือคำสั่ง หรือละเลยล่าช้า ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ใช้หลักผู้เสียหายอย่างกว้าง คือเพียงแต่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการกระทำหรือคำสั่งก็ฟ้องได้ โดยมีข้อยกเว้นว่าแม้ได้รับความกระทบกระเทือน แต่การดำเนินการหรือไม่ดำเนินการมิได้เป็นการเยียวยาทุกข์ให้ผู้ฟ้องคดีโดยตรง ไม่ใช่ผู้เสียหาย ศาลไม่รับคำฟ้อง เทียบคำสั่งศาลปกครองสูงสูด ที่ 639/2548 (การที่

ผู้ฟ้องคดี ฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอน คำสั่งที่แต่งตั้งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และที่ 2 ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 นำผลงานทางวิชาการของผู้ฟ้องคดีไป

ขอตำแหน่งทางวิชาการนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการมิได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี และการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี มิได้มีผลเป็นการเยียวยาทุกข์ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง

          ประเภทที่ 2 คดีละเมิดหรือสัญญาทางปกครอง ให้หลักแก่ผู้เสียหายอย่างแคบ คือ ต้องถูกโต้แย้งสิทธิในเรื่องที่จะฟ้องนั้น หมายความว่าต้องเป็นคู่สัญญา หรือผู้ถูกกระทำละเมิดโดยตรง และคำสั่งทางปกครองนั้นต้องก่อผลกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะฟ้องได้อย่างในกรณีที่เรียกว่าเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง ซึ่งแม้จะเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ก็ไม่ก่อผลกระทบกระเทือนแต่อย่างใดหรือกรณีคำสั่งจัดระบบภายในกอง หรือสำนักงาน คำสั่งย้ายข้าราชการภายในโดยไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ จึงไม่อาจฟ้องศาลปกครองได้ โดยเทียบคำสั่งศาลปกครองสูงสด ที่ 846/2550 (เทศบาลสมุทรสาคร ย้ายผู้ฟ้องคดีจากหัวหน้าหน่วยงานธุรการ กองช่าง ไปช่วยปฏิบัติราชการ เป็นหัวหน้าธุรการสารบรรณ กองการประปา เป็นการชั้วคราว 1 ปี เป็นการสั่งให้ไปช่วยราชการในระดับ และอัตราเงินเดือนเดิม ไม่มีผลกระทบต่อสถานะทางกฎหมาย และสิทธิหน้าที่ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงไม่รับคำฟ้อง

(ไว้พิจารณา)

          บทความตอนนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึง เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองในรายละเอียดเฉพาะความเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เท่านั้น ในขั้นตอนต่อไป จะกล่าวถึงเงื่อนไขอื่นในการฟ้องคดีปกครองต่อ ในตอนที่ 2