การจัดทำและให้ความรู้แก่ประชาชนเมื่อต้องทำสัญญาตามกฎหมาย

published: 4/7/2557 9:28:01 updated: 4/7/2557 9:28:01 2603 views   TH
 

รายละอียดตามนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๗

เรื่อง“การจัดทำและให้ความรู้แก่ประชาชนเมื่อต้องทำสัญญาตามกฎหมาย”

           กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องราว ร้องทุกข์ของพี่น้องประชาชนที่เดินทางไปขายแรงงานที่ต่างประเทศจำนวนมาก ประชาชนที่ไปขายแรงงานในต่างประเทศได้รับการขายฝันว่าการเดินทางไปขายแรงงานจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี  จะสามารถได้รับเงินจำนวนมากกลับบ้านและผลตอบแทนจำนวนมากนั้นแรงงานสามารถนำกลับมาสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์ ซื้อเครื่องมือทางการเกษตร เพื่อการศึกษาของบุตร หรือพูดง่ายๆ คือ สามารถกลับมาสร้างอนาคตในประเทศไทย แต่ผู้ชักชวนหรือนายหน้าไม่ได้บรรยายว่าการทำงานที่ต่างประเทศนั้น มีความยากลำบากขนาดไหน ต้องมีความอดทนอย่างสูง การใช้ชีวิตในต่างประเทศมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกับสภาพแวดล้อมตามปกติของประเทศไทย  ต้องห่างไกลจากครอบครัว และญาติมิตร  และที่สำคัญอย่างยิ่งจะเดินทางเพื่อไปเก็บเกี่ยวฝันนั้นได้ ต้องมีขั้นตอนและต้นทุนในการเดินทาง 

          ข้อมูลของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ  กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้จำแนกการไปทำงานยังต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  มี ๕ วิธี คือ 

           ๑.บริษัทจัดหางานจัดส่งไป    

           ๒. กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่งไปทำงาน

           ๓.ผู้ที่จะไปทำงานติดต่อหางานเอง 

           ๔. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงาน 

           ๕.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน โดยมีรายละเอียดของค่าใช้จ่ายดังนี้

                   ๕.๑ ค่าทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ๑,๐๐๐ บาท หากประสงค์จะรับหนังสือเดินทาง ทางไปรษณีย์เพิ่มอีก ๔๐ บาท รวมเป็น ๑,๐๔๐ บาท

                             ๕.๒ ค่าตรวจสุขภาพเพื่อไปทำงานต่างประเทศไม่เกิน ๑,๕๐๐ บาท

                             ๕.๓ ค่าทดสอบฝีมือครั้งละไม่เกิน ๕๐๐ บาท หากค่าทดสอบฝีมือมีค่าใช้จ่ายสูงเกิน ๕๐๐ บาท ให้ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือ เรียกเก็บได้ตามอัตราที่อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด  ทั้งนี้ต้องไม่เกินครั้งละไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท

                   ๕.๔ ค่าบริการและค่าใช้จ่าย(ค่าหัว)ไปทำงานไต้หวัน เสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายไม่เกิน ๕๖,๐๐๐ บาท

                   ๕.๕ ไปทำงานประเทศอื่นๆ เสียค่าบริการ เท่ากับค่าจ้างที่ท่านได้รับไม่เกิน ๑ เดือนและค่าใช้จ่ายอื่นๆในการจัดส่งไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท  เช่น ไปทำงานที่สิงคโปร์ ได้รับเงินเดือน ๘,๐๐๐ บาท บริษัทจัดหางานจะเก็บเงินค่าบริการได้ไม่เกิน ๘,๐๐๐ +๑๕,๐๐๐ = ๒๓,๐๐๐ บาท

           ส่วนใหญ่ประชาชนที่ไปขายแรงงานยังต่างประเทศมักจะมีปัญหาในด้านการเงินมีงบประมาณไม่เพียงพอในการเดินทาง  หนทางที่จะได้เงิน คือ การขายทรัพย์สินส่วนตัวที่ตนเองมี  เช่น ที่ดินที่ใช้ในการทำมาหากิน  ขายอาคารบ้านเรือนของตนเอง  หากไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวหรือขายแล้วยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่ายในการเดินทาง  นายทุนที่หาง่ายและยินดีที่จะให้กู้หนี้ยืมสิน คือ เจ้าของบริษัทที่เป็นผู้จัดหาคนงานไปทำงานที่ต่างประเทศนั้นๆ 

           ปัญหาที่สำคัญตามมา คือ การทำสัญญาต่างๆของแรงงานที่ไปต่างประเทศนั้น มีการลงนามในเอกสารต่างๆโดยไม่ได้มีการอ่านเอกสารต่างๆอย่างรอบคอบ หรือบางครั้งลงนามในเอกสารโดยไม่รู้ว่าเป็นเอกสารการเป็นหนี้ของตนเอง  เนื้อหาของสัญญาไม่ตรงกับที่ได้รับการชี้แจง หรือบางครั้งที่เป็นปัญหาที่หนักหนา คือ ยอมลงนามในเอกสารกระดาษเปล่า เมื่อการจัดทำเอกสารเสร็จสิ้นและเดินทางไปทำงานเรียบร้อยแล้ว  แรงงานส่วนใหญ่พบว่าตนเองไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่ได้มีการตกลงก่อนการเดินทางมายังต่างประเทศ และพบว่าตนเองมีหนี้สินก้อนโต  เมื่อเดินทางกลับจากต่างประเทศพบว่าทรัพย์สินที่ตนเองใช้ค้ำประกันในการกู้ยืมตกเป็นของนายทุนหรือเจ้าของบริษัทนายจ้างของแรงงาน

            ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนที่ต้องการไปขายแรงงานยังต่างประเทศและจำเป็นต้องทำสัญญามีความรู้ ความเข้าใจที่เพียงพอ ในการจัดทำสัญญา สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาคจึงมีการจัดทำโครงการการให้ความรู้แก่ประชาชนเมื่อต้องทำสัญญาตามกฎหมาย  เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำสัญญาอย่างถูกต้อง เหมาะสมตรงกับความเข้าใจของคู่สัญญา

โดย สำนักปฏิบัติการพิเศษภาค

Documents related