DSI ประชุมเสวนา “สถานการณ์ และแนวโน้มปัญหาหนี้นอกระบบ”

published: 24/3/2566 11:09:03 updated: 24/3/2566 11:10:15 1879 views   TH
 

DSI ประชุมเสวนา “สถานการณ์ และแนวโน้มปัญหาหนี้นอกระบบ”

         วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  เป็นประธานเปิดกิจกรรมการประชุมเสวนา เรื่อง “สถานการณ์และแนวโน้มปัญหาหนี้นอกระบบ” ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 8 กรมสอบสวนคดีพิเศษ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยมี พันตำรวจโท พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ปรึกษาโครงการอำนวยความเป็นธรรม นายประมุข วิจารณ์ปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบและอำนวยความเป็นธรรม พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนจำนวน 4 เครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิสุภา วงศ์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินชุมชนบ้านบางพลี หมู่ 9 และสถาบันการเงินชุมชนบ้านท้องคุ้ง และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวรวมจำนวน 45 คน ผลการประชุมเสวนาสรุปประเด็นสาระสำคัญได้ดังนี้
   1. ปัญหาหนี้นอกระบบมีหลายรูปแบบปัจจุบันมีการพัฒนามาใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบออนไลน์ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกหนี้ได้รวดเร็วและหลากหลายมากขึ้น ยากแก่การตรวจสอบกลุ่มผู้กระทำความผิด 
   2. ปัญหาหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบมีความเกี่ยวพันกันเนื่องจากลูกหนี้ขาดความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อเป็นหนี้นอกระบบแล้วไม่สามารถในการชำระหนี้ก็จะไปหาช่องทางจากหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบเข้าสู่หนี้ในระบบแล้วแต่ลูกหนี้ขาดความสามารถจะชำระหนี้ได้ก็จะกลับไปหาหนี้นอกระบบอีกครั้ง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินจึงต้องมีการติดตามประคับประคอง ให้คำปรึกษาหา อีกช่วงระยะเวลาหนึ่งภายหลังมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
   3. กลไกของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรมหาชนที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบได้ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งในวันที่ 11 เมษายน 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น มาเพื่อประชุมสัมมนารับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบต่อไป
   4. ศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบและอำนวยความเป็นธรรม และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะได้นำเครื่องมือตามระบบราชการ 4.0 มาใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ดังนี้
       4.1 ใช้เครือข่ายความร่วมมือจาก ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นกลไกส่วนหนึ่งในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
       4.2 นำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาโปรแกรมจัดเก็บข้อมูลหนี้นอกระบบเพื่อเชื่อมโยงกับระบบ cis ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พัฒนาระบบแจ้งข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันหนี้นอกระบบให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายเพิ่มเติมมากขึ้นโดยการสร้าง “Web App หนี้นอกระบบ”
       4.3 ศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบและอำนวยความเป็นธรรม และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะสร้างนวัตกรรม “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” เพื่อช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้มีความกระชับ รวดเร็วและตรงความต้องการของลูกหนี้ โดยจะใช้การบังคับใช้กฎหมายเป็นขั้นตอนสุดท้าย 
   5. ในอนาคตหลังจากการประชุมหารือกับเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรมหาชน เสร็จสิ้นแล้ว จะได้กำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการขั้นต่อไป เช่น การลงนามใน MOU หรือการสร้างตัวแบบในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

Lasted Post

Related Post