DSI แจ้งข้อกล่าวหากลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค เขตพื้นที่ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

published: 30/6/2563 16:16:50 updated: 30/6/2563 16:18:08 2491 views   TH
 

DSI แจ้งข้อกล่าวหากลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค เขตพื้นที่ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

 

 

 

 

          กรมสอบสวนคดีพิเศษโดยกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนดำเนินคดี กรณี นายกาหรีม เตบบุตร ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎร ยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน 33 แปลง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค เขตพื้นที่ ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 7/2562 มีการสอบสวนและ แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว 10 คน และยังมีผู้อยู่ในข่ายถูกแจ้งข้อกล่าวหาอีก 13 คน อยู่ระหว่างเร่งรัดการสืบสวนสอบสวน
           กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2550 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2550 ให้รับกรณีมีกลุ่มบุคคลบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค โดยมีการออกหนังสือแสดงสิทธิ์โฉนดที่ดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 51 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ในเขตพื้นที่ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เป็นคดีพิเศษ ที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษที่ 71/2550 จากการสืบสวนสอบสวนขณะนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโฉนดที่ดิน จำนวน 33 แปลง จาก 51 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 97-3-10 ไร่ มีพยานหลักฐานว่าออกโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย เนื่องจากที่ดินเป็นที่เขาหรือภูเขาและไม่มีลักษณะการทำประโยชน์มาก่อน อีกทั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ดำเนินการขีดเขตและรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่ดินผู้เกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดิน เข้าข่ายกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและยังมีบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจ เพื่อออกโฉนดที่ดิน ได้ร่วมกระทำการกับเจ้าหน้าที่ด้วย อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552 
          ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลการกระทำความผิดในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างคณะทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุด มีมติให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ซึ่งมีอัตราโทษสูง กล่าวคือมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท นอกจากนั้น ในส่วนของผู้ปกครองท้องที่ คือ นายกาหรีม เตบบุตร ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงราษฎรที่ยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดิน เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน 33 แปลงในคดีนี้ ย่อมมีความผิดฐานเดียวกัน โดยราษฎรจะเป็นเรื่องการสนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นผู้สอบสวนพบการกระทำผิดและดำเนินคดีมาแต่ต้น เป็นผู้สอบสวนดำเนินคดีในเรื่องนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยสำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ให้กรมสอบสวน คดีพิเศษทราบเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ซึ่งภายหลังจากที่รับเรื่องจากสำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานพบบุคคลที่มีพยานหลักฐานพอแจ้งข้อกล่าวหาในฐานะความผิดดังกล่าว จำนวน 23 คน จึงออกหมายเรียกให้มารับทราบ ข้อกล่าวหา โดยขณะนี้ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาแล้ว จำนวน 10 คน ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 86 และอยู่ระหว่างกระบวนการอีก 13 คน ทั้งนี้ เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาที่สามารถนำข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐาน มามอบให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ อันเป็นขั้นตอนตามกฎหมายก่อนที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมดและมีความเห็นทางคดีส่งพนักงานอัยการต่อไป
          กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินคดีในขั้นตอนสำคัญเพื่อทราบและยืนยันว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีนโยบายสำคัญในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวน เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมบัติของชาติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม โดยทุ่มเททรัพยากรในการปฏิบัติงาน รวมทั้งบูรณาการร่วมกับทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคม สามารถส่งข้อมูลหรือ แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยสามารถเดินทางมาด้วยตนเองหรือส่งเป็นหนังสือมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210. , เว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th เลือก “บริการ” และเลือก “แจ้งเบาะแสร้องเรียน ร้องทุกข์”, DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) หรือ ไปยัง ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ต่างๆ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีจำนวน 10 ศูนย์ปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยตรวจสอบสถานที่ตั้งและวิธีติดต่อได้ที่เว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสอบถามที่ DSI Call Center 1202 

 

 

 

                                                                                คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
                                                                                30 มิถุนายน 2563

Documents related