DSI สนธิกำลังตำรวจ ปปง. และสรรพากร บุกทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ไต้หวันรายใหญ่กลางกรุง เสียหายเกือบ 50 ล้านบาท

published: 12/10/2560 17:29:22 updated: 12/10/2560 17:29:22 2639 views   TH
 

 

          กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สนธิกำลัง กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 กองปราบปราม ปปง. และกรมสรรพากร บุกทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไต้หวันรายใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  
 
       กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับข้อมูลจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 ว่ามีกลุ่มบุคคลชาวต่างชาติสัญชาติจีนและไต้หวัน ร่วมกับบุคคลสัญชาติไทย กระทำการหลอกหลวงประชาชนเพื่อฉ้อโกงในลักษณะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และบริษัทนำเที่ยวบังหน้าเพื่อฟอกเงิน โดยพฤติการณ์ของผู้ต้องหาชาวไต้หวัน มีลักษณะเป็นแกนนำและทำหน้าที่โอนเงินจากไทยไปไต้หวัน ส่วนผู้ต้องหาชาวไทยมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินรวมทั้งจัดหาคนเปิดบัญชี จึงได้สนธิกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ทำการสืบสวนจนสามารถออกหมายจับผู้ต้องสงสัย จำนวน 18 ราย ประกอบด้วย ผู้ต้องหาสัญชาติไทย จำนวน 14 ราย สัญชาติจีน 1 ราย และ สัญชาติไต้หวัน 3 ราย
 
  
  
 
          เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560  ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ สนธิกำลังกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 8 ราย ประกอบด้วยสัญชาติจีน 1 ราย  สัญชาติไต้หวัน 1 ราย และสัญชาติไทยอีก 6 ราย และอายัดบัญชีธนาคารจำนวน 70 บัญชี โดยกล่าวหาว่า มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 80,000 – 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงิน มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท อีกทั้งมีผู้แทนจากกรมสอบสวน สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (Ministry of Justice Investigation Bureau – MJIB) ร่วมสังเกตการณ์การจับกุมด้วย 
 
     และในวันนี้ (12 ตุลาคม 2560) สนธิกำลังตรวจค้นบริษัททัวร์ในย่านห้วยขวาง และ ย่านบึงกุ่ม  ซึ่งจะต้องสืบสวนขยายผลต่อไป 
 
  
     อนึ่งการตรวจค้นครั้งนี้เป็นการตรวจค้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ซึ่งถือเป็นการสนธิกำลังตรวจค้นจับกุมคดีคอลเซ็นเตอร์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามฯ ครั้งแรกของประเทศไทย 
 
     โดยการทำงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากกรมการสอบสวน สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (MJIB) ตั้งแต่ชั้นเริ่มสืบสวน จนกระทั่งจับกุมตัวได้ในที่สุด