DSI ชี้แจงความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบการสัมปทานผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่บ่อรังเหนือ จังหวัดเพชรบูรณ์ ของบริษัทอีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย)

published: 5/4/2561 17:51:14 updated: 5/4/2561 17:51:14 2176 views   TH
 

 

DSI ชี้แจงความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบการสัมปทานผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่บ่อรังเหนือ
จังหวัดเพชรบูรณ์ ของบริษัทอีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย)
 

          ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะ กรณีหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้นำเสนอประเด็นความคืบหน้าการผลิตปิโตรเลียมในแปลง 44/43 ในพื้นที่บ่อรังเหนือ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทอีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน ได้เข้าไปใช้พื้นที่ทับซ้อนของกรมป่าไม้และอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งแต่ปี 2555 ส่งผลให้การผลิตปิโตรเลียม 400 - 500 บาร์เรลต่อวัน หยุดชะงักมาต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะผู้ออกใบอนุญาตสัมปทานให้เอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งดังกล่าวได้หารือกับกรมป่าไม้และกรมสอบสวนคดีพิเศษไปแล้วแต่ยังไม่มีข้อสรุป ทำให้บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ฯ ยังไม่สามารถผลิตในแปลงดังกล่าวได้ และตอนหนึ่งได้กล่าวถึงอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่าเตรียมหารือกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดี และอาจพิจารณาต่ออายุสัมปทานเพื่อชดเชยในช่วงที่ต้องหยุดผลิตไปนั้น

          กรมสอบสวนคดีพิเศษขอเรียนชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากมีหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษว่ามีการดำเนินกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นแปลงสำรวจ SW1 แปลงสำรวจ L44/43 และแปลงสำรวจ L33/43 โดยฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการและมีการหลบเลี่ยงภาษีค่าภาคหลวงปิโตรเลียม กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีการสืบสวนเรื่องดังกล่าว โดยระหว่างการสืบสวนนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษมิได้ใช้อำนาจในการสั่งให้มีการหยุดดำเนินการ แต่เป็นการพิจารณาของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ต่อมาผลการสืบสวนมีมูลน่าเชื่อว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงมีการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการคดีพิเศษในการประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 และมีมติรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) โดยเป็นคดีพิเศษที่ 89/2559 และมีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เป็นผู้กล่าวโทษ ในความผิดฐานก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่าหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ทางการสอบสวนพยานหลักฐานพอแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อมีหนังสือแจ้งให้ผู้กระทำผิดมารับทราบข้อกล่าวหาในเดือนเมษายนนี้ ส่วนในประเด็นว่ามีการกระทำผิดในเรื่องการหลบเลียงภาษีปิโตรเลียมหรือค่าภาคหลวงปิโตรเลียมหรือไม่นั้น พบว่าในช่วงดำเนินคดีมีปริมาณน้ำมันดิบประมาณ 1,537,051 บาเรล คิดเป็นมูลค่าราคากลางตลาดโลก ณ ช่วงเกิดเหตุ 4,400 กว่าล้านบาท จึงได้แยกสืบสวนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากพบการกระทำผิดก็จะดำเนินคดีต่อไป 

         สำหรับประเด็นการหารือร่วมกันระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมป่าไม้ และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนประเด็นที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะพิจารณาขยายระยะเวลาสัมปทานนั้น เห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกระทรวงพลังงาน แต่หากประสงค์ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสนับสนุนข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด จึงชี้แจงมาเพื่อทราบ

 

คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

5 เมษายน 2561