DSI จับมือกรมสรรพากร บูรณาการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานร่วมกัน

published: 20/10/2564 22:18:35 updated: 25/10/2564 11:32:43 1545 views   TH
 

DSI จับมือกรมสรรพากร บูรณาการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานร่วมกัน

 

เมื่อวันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564 เวลา 11.00 น. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย พันตำรวจเอก อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพันตำรวจโท อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผู้อำนวยการกองคดีภาษีอากร นายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ร้อยตำรวจเอก ปิยะรักสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และนางสาวรัศมีสีตลวรางค์ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เดินทางเข้าพบ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร และผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร ประกอบด้วย นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร นางสาวสลักจิต พงษ์ศิริจันทร์ รองอธิบดีกรมสรรพากร นายศรีณรงค์ แกล้วทะนงค์  ผู้อำนวยการกองสืบสวนและคดี และนางสาวจำรัส ช้อยจินดา ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลาง เพื่อหารือข้อราชการในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมสรรพากร มีบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมสรรพากร ได้มีการประสานงานและปฏิบัติงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคดีสำคัญที่ต้องร่วมดำเนินการจำนวนมาก เช่น คดีฉ้อโกงภาษีด้วยการใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออกตามกฎหมาย เป็นต้น ขณะนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างขับเคลื่อน 2 เรื่อง สำคัญ คือ Digital Transformation และ Data Analytic ในการหารือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมสรรพากร มีความเห็นร่วมกันว่าเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมพยานหลักฐานให้มีความรวดเร็วและลดขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งขยายขอบเขตความร่วมมือไปยังเรื่องอื่นๆ จึงได้กำหนดประเด็นสำคัญที่จะร่วมกันดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานร่วมกัน ดังนี้

1.    จัดให้มีการทำงานด้วยระบบ Data Analytic คือ การนำฐานข้อมูลด้านภาษีอากร มาวิเคราะห์แนวโน้มและพฤติกรรมที่ส่อไปในการกระทำความผิดร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ

2.    การสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ชั้นงานด้านการข่าว พัฒนาสู่การสืบสวน และการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่สำคัญเพื่อให้มีการปฏิบัติงานที่รวดเร็วและลดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้สั้นลง โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ เป็นผู้ประสานงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลาง เป็นผู้ประสานงานของกรมสรรพากร

3.    การฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับงานสรรพากรและการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งการเสริมทักษะเฉพาะด้านซึ่งกันและกัน เช่น การให้ความรู้เรื่องการตรวจติดตามทางบัญชี และการใช้เครื่องมือวิเคราะห์และสร้างความเชื่อมโยง (Notebook Analysis : I2) ในการดำเนินการด้านภาษีอากร เป็นต้น โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษพร้อมสนับสนุนให้ใช้สถาบันการสอบสวนคดีพิเศษ ที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และกรมสรรพากรสนับสนุนอาคาร 100 ปี กรมสรรพากร สนามบินน้ำ นนทบุรี เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมและเป็นสถานที่ปฏิบัติงานร่วมกัน

 

ทั้งนี้ ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และจะมีการทบทวนบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษให้มีความทันสมัย และครอบคลุมความร่วมมือในทุกมิติต่อไป 

 

อนึ่ง ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะผู้บริหาร ได้เข้าพบและหารือข้อราชการกับหน่วยงานสำคัญหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ กรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อการประสานงานในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษอย่างใกล้ชิดและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานร่วมกัน

 

คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

20 ตุลาคม 2564

Lasted Post

Related Post