รมว.ยุติธรรม แถลง ดีเอสไอตรวจค้นแหล่งจำหน่ายซิมมือถือ พบซิมลงทะเบียน ใช้ชื่อแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ส่อนำมาใช้ในกลุ่มแก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกให้โอนเงินหรือก่ออาชญากรรมอื่น เตือนประชาชนอย่ารับจ้างเปิดหมายเลข/บัญชีธนาคาร อาจกลายเป็นผู้ต้องหาไม่รู้ตัว

published: 26/1/2565 13:20:06 updated: 26/1/2565 16:01:29 1699 views   TH
 

รมว.ยุติธรรม แถลง ดีเอสไอตรวจค้นแหล่งจำหน่ายซิมมือถือ พบซิมลงทะเบียน
ใช้ชื่อแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ส่อนำมาใช้ในกลุ่มแก๊งคอลเซนเตอร์
หลอกให้โอนเงินหรือก่ออาชญากรรมอื่น  เตือนประชาชนอย่ารับจ้างเปิดหมายเลข/บัญชีธนาคาร อาจกลายเป็นผู้ต้องหาไม่รู้ตัว

          วันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565 เวลา 14.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต  จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมการแถลงข่าวกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัย ผู้จำหน่ายซิมโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนโดยชาวต่างด้าวที่เป็นแรงงานในประเทศไทย และบางส่วนที่ยังไม่ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากศูนย์สืบสวนไซเบอร์ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ปฏิบัติการเชิงรุกในการหาข่าวผ่านสื่อโซเชียล ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี  โดยพบว่ามีการเสนอขายซิมโทรศัพท์พร้อมใช้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนมาก จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจจะเป็นการกระทำความผิดทางอาญา เนื่องจากซิมโทรศัพท์ดังกล่าวได้นำมาใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซนเตอร์หรือการก่อการร้าย จึงได้ดำเนินการสืบสวนและทำการล่อซื้อ โดยปรากฏว่ามีการจำหน่ายจริง จึงดำเนินการสืบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและเร่งด่วน เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังมีประชาชนจำนวนมากร้องขอความช่วยเหลือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงให้โอนเงิน  มูลค่าความเสียหายทั่วประเทศหลายร้อย    ล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือ ตนจึงได้มอบหมายให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้สำนักงานสหวิทยาการคดีพิเศษ สืบสวนเรื่องราวต่าง ๆ  ซึ่งพบว่าเริ่มต้นจากเครือข่ายขายซิมโทรศัพท์ที่จะทะเบียนแล้ว จากการสืบสวนและรวมรวมพยานหลักฐานพบว่ามีร้านค้าในกรุงเทพ และในจังหวัดเชียงราย ประกาศขายซิมทุกเครือข่ายทาง   เวปไซต์ และเพจเฟชบุ๊ค  โดยทั้งสองร้านมีการนำบัตรประชาชนชาวต่างชาติมาลงทะเบียน ซึ่งเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา  กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ขอหมายศาลและลงพื้นที่ตรวจค้นทั้ง 2 ร้านพร้อมกัน โดยจุดแรกที่บ้านพัก เขตคันนายาว กรุงเทพฯ  พบซิมที่ลงทะเบียนแล้วและยังไม่ลงทะเบียนรวมกันแสนกว่าหมายเลข เป็นซิมที่ลงทะเบียนโดยบัตรชาวเมียนมาและกัมพูชา 8,500 หมายเลข เจ้าหน้าที่ได้ยึดมาตรวจสอบอีก 10,000 หมายเลข พบว่ามีชื่อคนไทยด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนจุดที่ 2 ที่อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เป็นร้านขายโทรศัพท์และอุปกรณ์ ร้านดังกล่าวไม่มีการเก็บซิมสำรองจะใช้การสั่งจองล่วงหน้า ผลการตรวจค้นพบภาพถ่ายบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทยจำนวนมากและไฟล์สั่งซื้อซิมโทรศัพท์ จึงได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อสืบสวนต่อไป โดยการสั่งซื้อซิมโทรศัพท์ในลักษณะดังกล่าว อาจจะนำไปใช้ก่อเหตุอาชญากรรม เช่น การเปิดเวปพนัน การหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชน แอพพลิเคชั่นปล่อยเงินกู้ และบางส่วนอาจจะเกี่ยวกับการฟอกเงินในขบวนการค้ายาเสพติด เพราะเมื่อมีซิมที่ลงทะเบียนแล้วจะใช้เปิดบัญชีธนาคารผ่านออนไลน์ได้ สำหรับบทลงโทษ  ผู้ประกาศขายซิม  ผู้ลงทะเบียนและผู้ใช้ อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และ (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี  ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะมีการขยายผลเรื่องคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไปด้วย ซึ่งขณะนี้จะมีมาตรการ VOIT ดำเนินการโดยดีเอสไอ เพื่อช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากการถูกหลอกลวง
ด้านนายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไอกำลังสอบสวนคดีนี้ โดยได้มีการเสนอเป็นคดีพิเศษแล้ว เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก และในวันที่ 26 มกราคม นี้ เราจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาชี้แจงถึงการกำกับควบคุม และอาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้รัดกุมมากกว่านี้ และทางค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ รวมทั้งเวปไซต์ขายของออนไลน์ การปล่อยซิมออกมาว่ามีขั้นตอนอย่างไรกับตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) และหลุดออกมาได้อย่างไร โดยจากนี้ไปดีเอสไอจะสืบสวนติดตามเอาผิดกับกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มข้นต่อไป